รู้หรือไม่...การมองจอในที่มืด มีอันตรายกับดวงตาคุณขนาดไหน ?

วันที่เผยแพร่ 06 ส.ค. 2562

การมองจอในที่มืด มีอันตรายกับดวงตาคุณขนาดไหน , blue light




“ปัจจุบันเราใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้บางครั้งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้งานในที่มืดหรือในที่สภาวะแสงน้อยได้ ” นอกจากอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดดที่เราต้องเจอทุกวันแล้ว แสงอีกประเภทที่น่ากลัวและอยู่ใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวัน แต่หลายคนยังไม่ตระหนักถึงอันตรายมากนัก คือแสงจากอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟ LED แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ แสงที่อุปกรณ์เหล่านี้ปล่อยออกมามีชื่อเรียกง่ายๆว่า แสงสีน้ำเงิน (Blue Light) แสงสีน้ำเงิน (Blue Light) พบได้ทั้งจากในธรรมชาติ และจากสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น การที่มนุษย์มองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าก็เพราะในธรรมชาติมีแสงสีน้ำเงินนั่นเอง แสงสีน้ำเงินมีความยาวคลื่นประมาณ 380-500 nmเป็นความยาวคลื่นที่สั้นที่สุด พลังงานมากที่สุด และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า งานวิจัยของทางฝั่งอเมริกาและยุโรปหลายชิ้น รวมถึงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด พบว่า แสงสีน้ำเงิน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
  1. แสงสีน้ำเงิน (Blue Light)  ชนิดที่เป็นอันตราย คือ แสงสีน้ำเงินอมม่วง ความยาวคลื่น 380-460 nm เป็นแสงสีน้ำเงินที่อันตรายต่อดวงตา เสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration : AMD) พบได้มากจากหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัล และหลอดไฟ LED แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
  2. แสงสีน้ำเงิน (Blue Light)  ชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ แสงสีน้ำเงินอมเขียว ความยาวคลื่น 470-500 nm เป็นแสงสีน้ำเงินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเกี่ยวข้องกับการทำงานของนาฬิกาชีวิตมนุษย์ เช่น ช่วยให้ร่างกายตื่นตัวในเวลากลางวัน และนอนหลับในเวลากลางคืน รวมถึงแสงสีน้ำเงินอมเขียวได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ เช่น การรักษาโรคซึมเศร้า การรักษาสิว เป็นต้น
แสงสีน้ำเงิน (Blue Light)  ถูกนำมาใช้ในอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสว่างและความชัดของหน้าจอ แม้ว่าแสงสีน้ำเงินที่สังเคราะห์ขึ้นจะเป็นส่วนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับแสงที่ปล่อยโดยตรงจากดวงอาทิตย์ แต่การใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้บ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องหลายปี สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อดวงตาในระยะยาว โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในที่มืดหรือในที่สภาวะแสงน้อย จะทำให้ดวงตาและจอประสาทตาได้รับอันตรายจากแสงสีน้ำเงิน เนื่องจากต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอ ทำให้รูม่านตาขยายใหญ่มากกว่าปกติ ซึ่งมีผลกระตุ้นให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย วันนี้เรามีคำแนะนำเพื่อถนอมสุขภาพดวงตาง่ายๆ ดังนี้
  1. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในเวลากลางคืน ในที่มืดหรือในสภาวะแสงน้อย
  2. ลดความสว่างของหน้าจอ ไม่ควรเปิดแสงสว่างหน้าจอสูงสุด
  3. ในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลทุกๆ 2 ชม. ควรพักสายตาอย่างน้อย 5-10 นาที
  4. หากมีอาการตาแห้ง ให้กระพริบตาบ่อยขึ้น หรือหยอดน้ำตาเทียม
  5. เลือกใช้เลนส์แว่นตาที่ป้องกันแสงสีน้ำเงินจากอุปกรณ์ดิจิทัล และควรเลือกชนิดที่กรองเฉพาะแสงสีน้ำเงินที่ไม่ดี และปล่อยให้แสงสีน้ำเงินที่ดีผ่านเข้ามาได้
  6. รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา อาทิเช่น ลูทีน ซีแซนทีน ซึ่งพบได้ในผักและผลไม้สีเหลือง สีส้มหรือบิลเบอร์รี่ (Bilberry) หนึ่งในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าการรับประทานสารสกัดจากบิลเบอร์รี่ช่วยลดอาการตาล้าที่เกิดจากการเพ่งมองจออุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานาน
  7.  ตรวจวัดสายตาหรือพบจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา
  Reference: https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/blue-light-has-a-dark-side https://www.health.harvard.edu/blog/will-blue-light-from-electronic-devices-increase-my-risk-of-macular-degeneration-and-blindness-2019040816365