เขาว่าตากระตุกเป็นแค่เรื่องโชค?

วันที่เผยแพร่ 01 ม.ค. 2562

ตากระตุก




หลายคนคงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องตากระตุก และเมื่อตาซ้ายกระตุกหลายๆคนคงเคยพูดว่า “ไม่เป็นไร ขวาร้าย ซ้ายดี” หรือบางคนเมื่อตาขวากระตุกก็จะพูดกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร ขวาดี ซ้ายร้าย” เป็นคำพูดที่ใช้ปลอบใจเสมอมา แต่เดี๋ยวก่อน ตากระตุกเกิดขึ้นเพราะโชคดีหรือโชคร้ายแค่นั้นจริงหรือ
 
ตากระตุก เป็นอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกิดบริเวณเปลือกตา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและล่าง ของทั้งสองตา ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่เปลือกตาบนมากกว่า และมักจะเป็นทีละตา เพศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย โดยเพศหญิงจะเป็นมากกว่าเพศชาย โดยอาการจะมีตั้งแต่น้อยไปจนถึงมีอาการมาก จนบางครั้งมากจนรู้สึกรำคาญ และอัตราการเกิดอาการไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายได้เองในเวลาอันสั้น อาการตากระตุกมักไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ
 
สาเหตุของตากระตุก จริงๆแล้วในทางการแพทย์นั้นยังไม่แน่ชัด แต่สันนิฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผิดปกติ แบ่งปัจจัยต่างๆได้ดังนี้
 
  1. ความเครียด หากเรามีภาวะเครียด ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด ซึ่งส่งผลกับกล้ามเนื้อนั้นเอง
  2. พักผ่อนไม่เพียงพอ หลายๆคนไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอเนื่องจาก ต้องทำงาน หรืออ่านหนังสือ ซึ่งทำให้เราใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาและใบหน้ามากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการล้า และทำให้เกิดตากระตุกในที่สุด
  3. ตาแห้ง ปัจจุบันอาการตาแห้งเกิดขึ้นบ่อย เนื่องการใช้ชีวิตประจำวันมีการจดจ่อ หรือจ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานเกินไปทำให้ชั้นน้ำตาของดวงตา ถูกอากาศดูดความชุ่มชื่นไป ซึ่งชั้นน้ำตาทำหน้าที่หล่อลื่นให้กับดวงตา สุดท้ายเมื่อชั้นน้ำตาถูกอากาศดูดความชุ่มชื่นมากเกินไป ส่งผลให้ตาแห้งนั่นเอง จนบางครั้งตาของเราแห้งมาก จนเป็นสาเหตุให้เราตากระตุกได้
  4. ขาดวิตามินบางชนิด เช่นวิตามิน B12 ซึ่งการขาดวิตามินชนิดนี้ จะทำให้สารสื่อประสาทบางตัวทำงานผิดปกติได้ ส่งผลต่อการทำงานปกติของกล้ามเนื้อบางชนิดได้ ทำให้เกิดตากระตุกได้เช่นกัน
  5. โรคภูมิแพ้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดตากระตุก เนื่องจากอาการภูมิแพ้ อาจทำให้มีการระคายเคืองได้ง่าย และขณะที่เกิดอาการ ร่างกายจะหลั่งสารฮีสตามีนออกมา ผ่านทางเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการตากระตุกที่ได้เช่นกัน
  6. ยาบางชนิด จะกระตุ้นให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ และแน่นอนกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาและใบหน้าได้รับผลกระทบได้ด้วยนั้นเอง
  7. การดื่มเครื่องดื่มที่คาเฟอีนและสารกระตุ้น ในปริมาณที่มากเกินจำเป็น ซึ่งกระตุ้นให้การทำงานของระบบประสาททำงานหนัก อาจส่งผลต่อร่างกาย หนึ่งในอาการก็คือ อาการตากระตุก
 
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการตากระตุก
 
  1. กระพริบตาให้ถี่ขึ้น การกระพริบตาถี่ขึ้นเป็นวิธีทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น หรือถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ตาหลับแรงๆ หรือหลับตาให้แน่นที่สุด จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้นั้นเอง
  2. การนวด นวดบริเวณรอบดวงตาเบาๆ ประมาณ 30 วินาที ถึง 1 นาที เป็นอีกวิธีที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้เช่นกัน
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตากระตุก ฉะนั้นจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยช่วงเวลาที่แนะนำ คือ 6-8 ชั่วโมง
  4. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและสารกระตุ้น เช่น กาแฟ โซดา 
  5. ทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ อย่างที่ทราบกัน การขาดสารอาหารบางชนิดทำให้เกิดอาการตากระตุก จึงควรบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
 
อาการตากระตุกไม่ได้เป็นเรื่องโชคลางตามความเชื่อเพียงอย่างเดียว ยังเป็นสัญญาณเรื่องสุขภาพร่างกายในช่วงนั้นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การบริโภคอาหารไม่ครบถ้วน หรือเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นหากเกิดอาการตากระตุกก็ควรมองย้อนตัวเองและสำรวจตัวเองด้วย ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ แต่หากมีอาการตากระตุกประมาณ 1 อาทิตย์แล้วยังไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ก็ควรพบจักษุแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา