ตาบอดสี...ถ้ารู้ก็สามารถวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย

วันที่เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563

จอประสาทตา , โรคตา , ตาบอดสี




เดือนกุมภาพันธ์ บรรยากาศอบอวลไปด้วยความรัก ของขวัญสีแดงและดอกกุหลาบสีแดง ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับของขวัญก็ย่อมจะชื่นชมและมีความสุขกับของขวัญชิ้นพิเศษ แต่เอ...หลายๆคนอาจไม่ได้มองเห็นดอกกุหลาบสีแดง...เป็นสีแดง ถ้าสายตามีภาวะบกพร่องในการแยกสีบางสี หรือที่เราเรียกกันว่า ตาบอดสี นั่นเอง

หลักกลไกการมองเห็นสีนั้นเริ่มจากการรับแสง และส่งต่อไปยังเซลล์รับภาพที่จอประสาทตา มีการประมวลผลหลักๆ 3 สี ได้แก่ เซลล์รับรู้การมองเห็นสีแดง เซลล์รับรู้การมองเห็นสีเขียว และเซลล์รับรู้การมองเห็นสีน้ำเงิน จากนั้นเซลล์จะถูกแสงกระตุ้นทำการส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อประมวลผลและแยกแยะสีได้ตามลำดับ

สำหรับภาวะตาบอดสีไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด กล่าวง่ายๆ คือ ยังสามารถมองเห็นสิ่งของเป็นสีอยู่ เพียงแต่สีที่เห็นนั้นจะมองเห็นไม่เหมือนกับคนปกติที่มองเห็นกัน ซึ่งบางทีคนที่ตาบอดสีอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่า ตัวเองตาบอดสีอยู่ จนกว่าจะได้ทดสอบตาบอดสีนั่นเอง
 

ตาบอดสี แบ่งออกได้เป็น2ชนิด ตามสาเหตุดังนี้

- ตาบอดสีชนิดเกิดแต่กำเนิด เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจาก X chromosome (โครโมโซม) ของฝ่ายแม่/ฝ่ายหญิง จากการวิจัยทำให้พบว่าตาบอดสีแต่กำเนิดจะมีอาการบอดสีแดง  และบอดสีเขียว เป็นส่วนมาก

- ตาบอดสีที่เกิดในภายหลัง ซึ่งมักจะเกิดจากสาเหตุของโรคตา หรือจอประสาทตา รวมไปถึงการสูญเสียเซลล์รูปกรวยชนิดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลือง และโรคทางจอประสาทตามักสูญเสียการมองเห็นสีแดง-เขียว ซึ่งนอกจากมองเห็นสีผิดเพี้ยนไปแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีสายตาหรือลานสายตาที่ผิดปกติด้วย
 

การทดสอบตาบอดสี

สามารถเข้ารับการทดสอบตาบอดสีและปรึกษากับจักษุแพทย์ ซึ่งจะทดสอบผ่านเครื่องมือการตรวจคัดกรองตาบอดสีโดยใช้แผ่นภาพ Ishihara Chart ซึ่งถือเป็นวิธีทดสอบสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยให้ผู้เข้าทดสอบทำการดูภาพและแยกสี ตลอดจนการอ่านตัวเลข หากเกิดความสับสนและไม่สามารถอ่านตัวเลขบนภาพได้ แสดงว่าคุณมีอาการตาบอดสี ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาวิธีรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป 
 

การรักษาอาการตาบอดสี

คนที่เป็นตาบอดสียังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เพียงแต่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง อีกทั้งในเรื่องของการรักษายังทำได้ยาก การใช้เลนส์บางชนิดเพื่อช่วยการกรองสี ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถแยกแยะสีออกจากกันได้ ช่วยให้รับรู้สีได้ถูกต้องยิ่งขึ้นภายใต้สภาวะแสงต่างๆ เลนส์ชนิดนี้ทำงานโดยการกรองความยาวคลื่นแสงเพื่อให้สามารถแยกแยะสีแดงและเขียวได้ แต่ไม่สามารถทำให้กลับมามองเห็นสีปกติได้ เพียงแค่ช่วยให้มองเห็นสีบางสีได้สดใสขึ้นเท่านั้น จักษุแพทย์สามารถช่วยตรวจสอบได้ว่าคุณสามารถใช้แว่นนี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การตรวจอาการตาบอดสีความสำคัญมาก ควรได้รับการตรวจตั้งแต่วัยเด็กก่อนถึงวัยเลือกอาชีพ หรือเลือกสาขาวิชาเรียน เพื่อให้เด็กได้วางแผนเกี่ยวกับการเลือกสายเรียนได้เหมาะสมกับตนเอง และถ้าหากในคนที่มีอาการตาบอดสีภายหลังหรือไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด ควรไปตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาสาเหตุของอาการตาบอดสีและวางแผนในการบรรเทาอาการตาบอดสีต่อไป